Smart Energy and Innovation Center (SEIC)

ในแผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติ กระทรวงพลังงานได้ทบทวนการจัดทำแผนพลังงาน 5 แผนหลัก ในช่วงปี พ.ศ. 2558 – 2579 ที่สอดคล้องกับรอบของการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย แผนอนุรักษ์พลังงาน แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก แผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติของไทย และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยในการจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan : AEDP2015) จะให้ความสำคัญในการส่งเสริมการผลิตพลังงานจากวัตถุดิบพลังงานทดแทนที่มีอยู่ภายในประเทศให้ได้เต็มตามศักยภาพ การพัฒนาศักยภาพการผลิตพลังงานทดแทนด้วยเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสม และการพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อผลประโยชน์ร่วมในมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชน

กระทรวงพลังงานได้คาดการณ์ความต้องการใช้พลังงานของประเทศในปี 2564 จะมีความต้องการถึง 99,838 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ จากปัจจุบัน 71,728 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ขณะที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 (2555-2573) กำหนดให้มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนต่าง ๆ ไว้ถึง 9,481 เมกะวัตต์ เมื่อสิ้นปี 2573 โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีการตั้งเป้าหมายไว้ถึง 2,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2564 จากปัจจุบันที่มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วกว่า 336 เมกะวัตต์

การติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดและเป็นทางเลือกที่มีแนวโน้มความนิยมมากขึ้น เพราะในช่วงที่มีแสงอาทิตย์หรือมีความเข้มแสง ระบบโซลาร์เซลล์สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อนำมาใช้ร่วมกับพลังงานไฟฟ้าหลักจากการไฟฟ้า เป็นตัวช่วยประหยัดค่าไฟต่อเดือนลดลงได้ประมาณ 40-60%  การติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน หรือโซลาร์รูฟท็อป นอกจากสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้ากลับมาใช้ในบ้านแล้ว ยังเป็นตัวสะท้อนความร้อนที่ได้รับโดยตรงจากดวงอาทิตย์ ส่งผลให้ลดความร้อนที่ผ่านเข้าสู่ตัวบ้าน ทำให้ช่วยลดอุณหภูมิในบ้านได้ประมาณ 3-5 องศา  ช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าจากการใช้เครื่องปรับอากาศระหว่างวัน

โครงการศูนย์พลังงานสะอาดและนวัตกรรม ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมทักษะวิชาชีพให้แก่นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป ซึ่งจะได้รับความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนการเพิ่มพูนทักษะการทำงานของผู้ปฏิบัติงานด้านระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์  ส่งเสริมให้ก้าวหน้าในอาชีพ และมีประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคคลากรระดับมืออาชีพโดยรวม โดยมีการออกแบบและจัดทำหลักสูตรอบรมหลักสูตรระยะสั้น โดยเป็นหลักสูตรหน่วยสมรรถนะที่เป็นไปตามหลักการของมาตรฐานอาชีพ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)  ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมและตลาดแรงงานปัจจุบัน หลักสูตรจัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติมีสัดส่วนมากกว่าเชิงทฤษฎี ซึ่งเน้นความเชื่อมโยงผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้ที่เข้ารับการอบรมกับสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพ ประกอบด้วยความรู้ ทักษะ และความสามารถในการประยุกต์ใช้และความรับผิดชอบ อันจะเป็นการยกระดับคุณภาพและคุณค่าของผู้มีความสามารถหรือสมรรถนะในการปฏิบัติงาน รวมทั้งการเชื่อมโยงเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพของบุคคลและองค์กร